เถาวัลย์เปรียง

สรรพคุณของเถาวัลย์เปรียง


เป็นพรรณไม้เถาเลื้อย ชอบเลื้อยพาดพันตามต้นไม้ใหญ่ เถาแก่มีเนื้อไม้แข็ง เปลือกเถาเรียบและเหนียว เป็นสีน้ำตาลเข้มอมสีดำหรือแดง เถาใหญ่มักจะบิด เนื้อไม้เป็นสีออกน้ำตาลอ่อน ๆ มีวงเป็นสีน้ำตาลไหม้ คล้ายกับเถาต้นแดงใบ ใบประกอบ ลักษณะจะเป็นใบกลม และเล็กคล้ายใบของต้นอันชัน ใบจะหนาและแข็ง มีใบย่อยอยู่ประมาณ 7 ใบหลังใบเรียบเป็นมันสีเขียวเข้ม ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรี ปลายใบเป็นรูปหอก โคนใบมน ขอบใบเรียบ ใบย่อยมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.25 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ท้องใบเรียบ ดอกจะออกเป็นช่อสีขาวอมสีม่วงอ่อนคล้ายกับดอกถั่วส่วนกลีบรองดอกเป็นสีม่วงดำ ตรงปลายกลีบดอกนั้นจะเป็นสีชมพูเรื่อ ๆกลีบดอกมี 4 กลีบ และมีขนาดไม่เท่ากัน สวนกลีบเลี้ยงดอกมีลักษณะเป็นรูปถ้วย สีม่วงแดง ดอกนั้นจะออกดกมาก และจะส่งกลิ่นหอมอ่อน ๆ ผลเถาวัลย์เปรียง ออกผลเป็นฝักแบน โคนฝักและปลายฝักมน ฝักเมื่อแก่เป็นสีน้ำตาลอ่อน ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 1-4 เมล็ด เถาวัลย์เปรียงขึ้นง่าย มักขึ้นเองตามชายป่า และที่โล่งทั่ว ๆ ไป 
สรรพคุณของเถาวัลย์เปรียง เป็นยาสมุนไพรที่คนไทยรู้จักการใช้ประโยชน์มาเนิ่นนาน เป็นสมุนไพรที่พบทั่วไปทุกภาค สรรพคุณของยาที่นิยมนำมาใช้ประโยชน์คือแก้อาการปวดเมื่อย ปวดหลัง ปวดเอว บำรุงกำลัง จึงมักนำมาต้มดื่ม หรือนำมาดองเหล้าเพื่อใช้แก้ไขอาการปวดเมื่อยจากการทำงาน 
เถา-ใช้ต้มรับประทานเป็นยาถ่ายกระษัย แก้กระษัย ช่วยแก้หวัด แก้ไอช่วยแก้บิด ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะผิดปกติ แก้ปัสสาวะกระปริบกะปรอย เป็นยาถ่ายเส้น ทำให้เส้นเอ็นอ่อนและหย่อนดี ช่วยรักษาเส้นเอ็นขอด เส้นเอ็นพิการ แก้อาการปวด ปวดเมื่อย ปวดหลัง ปวดเอว ปวดข้อ ข้ออักเสบ ช่วยรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม แก้อาการอักเสบของกล้ามเนื้อ หรือจะใช้เถานำมาหั่นตากแห้งคั่วชงน้ำกินต่างน้ำชาเป็นยาทำให้เส้นหย่อน แก้อาการเมื่อยขบตามร่างกาย แก้อาการปวดเมื่อย แก้เหน็บชา เป็นยาบำรุงกำลัง 
ราก-มีรสเฝื่อนเมา ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ ใช้เป็นส่วนประกอบของยาอายุวัฒนะ เพื่อช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง

0 ความคิดเห็น: